พระราชบัญญัติสหกรณ์(ใหม่) - หมวด 6

สารบัญ

 
หมวด ๖
การแยกสหกรณ์
 
มาตรา ๙๖ การแยกสหกรณ์จะกระทำมิได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองท้องที่ หรือแบ่งหน่วยงาน หรือสถานประกอบการ จะแยกสหกรณ์ก็ได้หากมีความจำเป็นหรือมีเหตุให้ไม่สะดวกแก่การดำเนินงาน
การแยกสหกรณ์ตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้โดยสมาชิกของสหกรณ์นั้นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอแยกสหกรณ์ต่อคณะ กรรมการดำเนินการสหกรณ์
ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เรียกประชุมใหญ่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ รับคำร้องขอตามวรรคสอง เพื่อพิจารณาเรื่องการแยกสหกรณ์ ถ้าที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเห็นชอบให้แยกสหกรณ์ให้พิจารณาแบ่งแยกทรัพย์สิน ทุน ทุนสำรอง หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของสหกรณ์ตามวิธีการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
การวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องต่าง ๆ ของที่ประชุมใหญ่ตามวรรคสาม ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกที่มาประชุม
ถ้าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่เรียกประชุมใหญ่ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ภายในระยะเวลาตามที่เห็นสมควร
 
มาตรา ๙๗ ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติไม่เห็นชอบให้แยกสหกรณ์ ถ้าสมาชิกซึ่งลงลายมือชื่อ ทำหนังสือร้องขอแยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๖ วรรคสอง พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมใหญ่นั้น ให้สมาชิกดังกล่าวทุกคนลงลายมือชื่อทำหนังสือถึงนายทะเบียนสหกรณ์ภายในกำหนด เวลาสามสิบวัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติเพื่อให้นายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ ขาดว่าสมควรแยกสหกรณ์หรือไม่ และเมื่อนายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยชี้ขาดเป็นอย่างไรแล้วให้แจ้งคำวินิจฉัย ให้สหกรณ์ทราบ
คำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์ให้เป็นที่สุด
 
มาตรา ๙๘ เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเห็นชอบตามมาตรา ๙๖ หรือนายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยชี้ขาดให้แยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๗ แล้ว ให้สหกรณ์แจ้งมติที่ประชุมใหญ่ หรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์เป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวงของ สหกรณ์ เพื่อให้ทราบรายการที่ประสงค์จะแยกสหกรณ์ และให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านในการแยกสหกรณ์นั้นส่งคำคัดค้านไปยังสหกรณ์ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
 
มาตรา ๙๙ สหกรณ์ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยการแยกจากสหกรณ์เดิมนั้น ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยการจดทะเบียนสหกรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำขอจดทะเบียนสหกรณ์ใหม่ ต้องยื่นพร้อมเอกสาร ดังต่อไปนี้
(๑) สำเนาหนังสือร้องขอแยกสหกรณ์ และสำเนารายงานการประชุมใหญ่ที่ได้มีมติเห็นชอบให้แยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๖ วรรคสี่ หรือสำเนาหนังสือนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งวินิจฉัยชี้ขาดให้แยกสหกรณ์ตามมาตรา ๙๗ แล้วแต่กรณี
(๒) สำเนาหนังสือของสหกรณ์ทุกฉบับที่แจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์ตามมาตรา ๙๘
(๓) หนังสือของสหกรณ์ที่รับรองว่าไม่มีเจ้าหนี้คัดค้านภายในกำหนด หรือสำเนาคำคัดค้านของเจ้าหนี้พร้อมทั้งหลักฐานที่แสดงว่าสหกรณ์ได้ชำระหนี้ หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นแล้ว
 
มาตรา ๑๐๐ บรรดาทรัพย์สิน ทุน ทุนสำรอง หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของสหกรณ์เดิมที่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติให้แบ่งแยกตามมาตรา ๙๖ หรือนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้แบ่งแยกตามมาตรา ๙๗ แล้วแต่กรณี ย่อมโอนไปให้แก่สหกรณ์ใหม่ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน